ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการประเภทใด ทุกธุรกิจต้องมีจุดเริ่มต้นคล้ายๆ กัน นั่นคือการทำให้แผนที่อยู่ในความคิด เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเป็นธุรกิจที่เป็นจริง เริ่มตั้งแต่การสร้างแผนธุรกิจไปจนถึงการจดทะเบียนธุรกิจกับหน่วยงานที่ถูกต้อง ซึ่งขั้นตอนต่างๆ เป็นการผสมผสานกันทั้งขั้นตอนทางธุรกิจ และขั้นตอนทางกฎหมาย
ขั้นตอนในการเริ่มต้นธุรกิจ
- มีไอเดีย
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเริ่มทำธุรกิจจากแรงบันดาลใจของตนเอง บางครั้งอาจเป็นสินค้าใหม่ที่คิดขึ้นมาเอง หรืออาจจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพอยู่แล้วก็ได้
ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นการคิดค้นสินค้าขึ้นมาใหม่เสมอ ในความเป็นจริงการสร้างธุรกิจให้สำเร็จ อยู่ที่คุณเข้าใจ
ถึงความต้องการของลูกค้ามากเพียงใด สามารถหาความแตกต่างจากสินค้าชนิดเดียวกันที่มีอยู่ในตลาด แต่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากกว่า นั่นจะเป็นทางที่ง่ายกว่าที่จะทำให้ธุรกิจไปได้ดี
ดังนั้นก่อนเริ่มธุรกิจ ลองตั้งคำถามต่อไปนี้กับตัวคุณเอง
- สินค้าหรือบริการของเราช่วยใครได้บ้าง?
- เรากำลังแก้ปัญหาเรื่องอะไรอยู่?
- ลูกค้าจะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการนี้ในราคาเท่าไหร่?
- มีคนอื่นเคยทำธุรกิจแบบเดียวกันนี้หรือไม่? พวกเขาประสบความสำเร็จหรือไม่? และมีอะไรที่เราจะเรียนรู้จากความผิดพลาดของพวกเขาได้บ้าง?
- เราจะแตกต่างจากคู่แข่งขันได้อย่างไร?
- เข้าถึงตลาด
การมีไอเดียที่ดี ไม่ได้แปลว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จเสมอไป แม้ว่าคุณจะพัฒนาสินค้าที่แปลกใหม่ น่าสนใจเพียงใด แต่มันก็อาจจะล้มเหลวได้ หากคุณไม่คิดคำนวณการตั้งราคาสินค้าที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของสินค้า ในทางกลับกัน หากสินค้าของคุณไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา หรือตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า คุณก็อาจประสบปัญหาในการขายไม่ว่าสินค้านั้นจะราคาถูกเพียงใด
ดังนั้นคุณต้องรู้ก่อนว่า ใครที่จะต้องการใช้สินค้าของคุณ และเขามีกำลังในการจ่ายเพื่อสินค้าของคุณได้ขนาดไหน และคุณจะสร้างแรงจูงใจให้เขามาซื้อสินค้าจากคุณ แทนที่จะไปซื้อจากคู่แข่งอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาดได้อย่างไร
- การศึกษา/วิจัยตลาด : สามารถช่วยให้เข้าใจว่าทำไมลูกค้าจึงจะซื้อสิ่งที่คุณต้องการขาย และสามารถช่วยให้คุณรู้ว่าคุณกำลังนำเสนอสินค้าที่เหมาะกับลูกค้าหรือไม่ รวมไปถึงแนวคิดทางธุรกิจของคุณมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด การศึกษาวิจัยตลาดก่อนเริ่มธุรกิจจะช่วยคุณประหยัดเวลาและเงินในอนาคตได้
- การสำรวจตลาด : อาจเริ่มต้นจากการสัมภาษณ์คนมีโอกาสหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นลูกค้าของคุณ เพื่อดูว่าพวกเขาชอบสินค้าหรือบริการของคุณหรือไม่ และจะยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาเท่าไหร่ ช่วงแรกอาจเริ่มจากเพื่อนหรือคนในครอบครัวก่อน แล้วจึงขยายกลุ่มไปเป็นบุคคลทั่วไป หรือแม้กระทั่งการทำแบบสำรวจออนไลน์ ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งคุณอาจได้รับผลตอบรับทั้งเชิงบวก และเชิงลบ หากเป็นผลตอบรับเชิงลบ คุณต้องคิดหาวิธีแก้ไข ปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนสินค้าเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องให้สินค้านั้นตอบสนองกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้าของคุณได้อย่างถูกต้อง
- การหาข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานภาครัฐบางแห่ง จะมีการเก็บข้อมูลประชากร
หากคุณจะเปิดธุรกิจที่มีหน้าร้าน คุณอาจจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ตั้ง ประชากรในพื้นที่โดยรอบ หรือบางหน่วยงานอาจจะมีข้อมูลสถิติของธุรกิจที่คล้ายกัน ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญในการเปิดธุรกิจใหม่
- สร้างแผนธุรกิจ :
คุณต้องเริ่มสร้างแผนธุรกิจ ซึ่งเป็นเหมือนแผนงานการก้าวเดินในแต่ละก้าวของธุรกิจคุณ ซึ่งต้องประกอบด้วยภาพรวมของบริษัท สินค้าหรือบริการที่คุณจะนำเสนอ รวมไปถึงแผนงานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปีต่อๆ ไปหลังจากที่คุณเริ่มธุรกิจแล้ว
คุณสามารถใช้ข้อมูลจากการศึกษา/วิจัยตลาดในการสร้างแผนธุรกิจ เริ่มจากการตั้งเป้าหมายของธุรกิจ วิธีที่จะเปิดตัวสินค้าหรือบริการสู่ตลาด การบริหารจัดการบริษัท และการคาดการณ์ผลประกอบการของธุรกิจ ว่าจะสร้างรายได้ให้คุณได้เท่าไร อย่างไร
แผนธุรกิจนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพได้ชัดเจนว่า ธุรกิจของคุณจะมีจุดเริ่มต้นอย่างไร คุณจะสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของคุณอย่างไร สินค้าของคุณคืออะไร มีอะไรบ้าง ยิ่งคุณทำแผนธุรกิจได้ละเอียดมากเท่าไร คุณก็จะตัดสินใจได้ดีมากขึ้นในแต่ละก้าวที่ธุรกิจดำเนินไป
การสร้างแผนธุรกิจเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก นอกจากจะทำให้คุณเห็นภาพรวมความเป็นไปของธุรกิจที่คุณสร้างขึ้นมาแล้ว การมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนจะเป็นตัวช่วยที่ดีหากต้องมีการระดมทุน หรือกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนจากสถาบันต่าง ๆ
- การระดมทุน :
การเริ่มธุรกิจจะมีการลงทุนเริ่มต้น หรือเงินทุน เพื่อซื้ออุปกรณ์ จ้างพนักงาน เช่าพื้นที่ จ่ายค่าใบอนุญาต รวมถึงค่าใช้จ่ายทางธุรกิจอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น แล้วคุณจะหาแหล่งเงินทุนเบื้องต้นได้จากที่ใดบ้าง
- เงินทุนของตัวเอง : จะเป็นการใช้เงินออม หรือรายได้จากงานอื่น หรือการกู้เงินมาเป็นค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ
- เพื่อนหรือครอบครัว : ซึ่งอาจจะเป็นการร่วมลงทุนหรือเป็นการขอกู้ยืม จากเพื่อนหรือคนในครอบครัว
- สินเชื่อธุรกิจ : การขอสินเชื่อธุรกิจหรือเงินกู้ให้กับธุรกิจ SME จากสถาบันการเงิน คุณจำเป็นต้องมีเครดิตที่ดี แผนธุรกิจที่มั่นคง และรูปแบบธุรกิจ/รายได้ส่วนบุคคลที่สม่ำเสมอ จึงจะมีโอกาสได้รับสินเชื่อ หากคุณไม่สามารถขอสินเชื่อด้วยตัวเองได้ ให้พิจารณาหาผู้กู้ร่วมที่ตกลงร่วมกันจะรับผิดชอบในหนี้ก้อนนี้ไปกับคุณ และใครจะเป็นคนชำระหนี้แทน หากคุณไม่สามารถทำได้
- นักลงทุน : การระดมเงินจากนักลงทุนอิสระหรือกองทุน เพื่อร่วมลงทุน บริษัทที่เข้ามาร่วมทุนจะทำการลงทุนโดยตรงเพื่อแลกกับหุ้นหรือขอความเป็นเจ้าของร่วมในธุรกิจ ซึ่งนักลงทุนส่วนมากจะลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโต และบ่อยครั้งเพื่อแลกกับการถือหุ้นในบริษัท
- เงินทุนจากผู้ขาย : หากเป็นการซื้อต่อบริษัท/ธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นอยู่ก่อนแล้ว บางครั้งผู้ขายอาจเสนอ
เงินทุนสำหรับการซื้อต่อธุรกิจ โดยเจ้าของเดิมให้เงินกู้ยืมกับผู้ที่กำลังซื้อต่อบริษัทของตน ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของรายใหม่สามารถจัดหาเงินทุนสำหรับการเป็นเจ้าของในบริษัทใหม่ได้ และชำระคืนเงินกู้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน
- Crowdfunding : การระดมทุนแบบ
“คราวด์ฟันดิง”อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่เริ่มทำธุรกิจ ที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากคนหมู่มากผ่านตัวกลางที่ให้บริการประเภทนี้ในลักษณะของการจองซื้อหุ้นกู้ล่วงหน้า
ผู้ลงทุนแต่ละรายจะลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่อาศัยการรวมจำนวนผู้ลงทุนจากคนหมู่มาก เพื่อให้ได้เงินทุนมากพอตามเป้าหมาย
ทั้งหมดนี้ คุณจะต้องชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของแต่ละตัวเลือกให้รอบคอบ เช่น คุณต้องการคงความเป็นเจ้าของบริษัทอย่างเต็มที่ในขณะที่ต้องรับผิดชอบการชำระคืนเงินกู้ด้วยตัวเอง หรือยอมเสียการควบคุมบางอย่างเพื่อแลกกับเงินลงทุนในธุรกิจ
- การจดทะเบียนธุรกิจ
เมื่อคุณเห็นแล้วว่าธุรกิจของคุณมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ และมีแหล่งเงินทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจได้แล้ว คุณจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขั้นตอนนี้อาจเริ่มก่อนการหาเงินทุน หรือคุณอาจหาเงินทุนได้บางส่วนแล้วและเริ่มจดทะเบียนธุรกิจก่อน แล้วจึงมองหาเงินทุนเพิ่มเติม
- ตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้างธุรกิจ : การจัดตั้งบริษัทในรูปแบบนิติบุคคลอาจจะเป็นหนึ่งทางเลือกที่มาพร้อมข้อเสนอพิเศษทางภาษี(ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ), การคุ้มครองทางกฎหมายต่อเจ้าหนี้ และอาจเป็นข้อกำหนดสำหรับการได้รับเงินทุนในธุรกิจบางประเภท
- เลือกชื่อธุรกิจ/บริษัท : คุณต้องตรวจสอบว่าชื่อธุรกิจสามารถสื่อถึงรูปแบบธุรกิจของคุณ และไม่ซ้ำกับคนอื่น และหากคุณจะเปิดการขายหรือการสื่อสารทางออนไลน์ เช่น เว็ปไซต์ เฟชบุ๊ค คุณอาจต้องตรวจสอบการใช้ชื่อเว็บไซต์ หรือชื่อทางบัญชีที่ใช้ใน Social Media Platform ต่างๆ ว่าชื่อที่คุณคิดไว้สามารถใช้ได้หรือไม่ อย่างไร
- จดทะเบียนธุรกิจ : สำหรับธุรกิจบางประเภท คุณต้องดูว่าธุรกิจคุณ มีความจำเป็นต้องจดทะเบียนธุรกิจกับหน่วยงานระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ แต่อย่างน้อยคุณต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ของคุณก่อน
- หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี : หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีจะช่วยให้คุณสามารถเปิดบัญชีธนาคารของธุรกิจและชำระภาษีธุรกิจได้ คุณสามารถเข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เพื่อดูแบบฟอร์มที่จำเป็น หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี จะมีความสำคัญ เมื่อคุณต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี
- ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ : คุณควรจะต้องได้รับใบอนุญาตทั้งในประเทศ หรือนอกประเทศหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ คุณสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในเรื่องนี้ได้