วีซ่า ร่วมกับธนาคารกรุงไทยและกรมสรรพากร พร้อมเปิดรับชำระค่าภาษีธุรกิจผ่านบัตรเครดิตเพื่อธุรกิจของวีซ่า

01/29/2024

 

การชำระภาษีธุรกิจในประเทศไทยจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะ วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ประกาศความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย เพิ่มช่องทางการรับชำระเงินแบบดิจิทัลให้แก่กรมสรรพากร โดยบริษัทจดทะเบียนสามารถชำระภาษีธุรกิจได้แล้วด้วยบัตรเครดิตวีซ่าเพื่อธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ Krungthai Fastpay (Payment Gateway)

การชำระค่าภาษีธุรกิจในรูปแบบใหม่นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และมอบคุณค่าที่เหนือกว่าความสะดวกสบายในการชำระภาษีที่ครอบคลุม ซึ่งตอบสนองความต้องการด้านการเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น จากการลดขั้นตอนงานเอกสาร และสามารถมุ่งความสนใจไปที่การบริหารธุรกิจได้อย่างเต็มที่

โดยจากการศึกษาวิจัยระดับโลกของวีซ่าเกี่ยวกับเทรนด์การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อย1 ได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการฯ ทั่วโลก ตั้งใจที่จะลดงานเอกสาร และมากถึงร้อยละ 95 ของผู้ตอบแบบสอบถามวางแผนที่จะเลิกใช้เงินสดในสักวันหนึ่ง และร้อยละ 51 วางแผนที่จะเป็นสังคมไร้เงินสดให้ได้ในอีกสองปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มากกว่าครึ่ง (55%) ตั้งใจที่จะใช้จ่ายในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นในปีหน้า

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เรามีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพให้แก่อีกหน่วยงานภาครัฐของไทย และเปิดรับการชำระเงินแบบดิจิทัลให้แก่กรมสรรพากรในครั้งนี้ เรามองว่าหน่วยงานภาครัฐล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญที่ไม่ต่างจากภาคเอกชนในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันทั้งในภาคประชาชนและภาคธุรกิจ เมื่อธุรกิจต่างเดินหน้าเพื่อเสริมศักยภาพให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐเองก็ต้องเดินไปพร้อมกัน และการเปิดรับการชำระเงินแบบดิจิทัลในครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน”

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า “ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน พร้อมเปิดโอกาสในการให้ความร่วมมือกับพันธมิตรทุกกลุ่ม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยได้ในทุกมิติ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้โลกธุรกิจยุคดิจิทัล สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้ระบบการรับชำระเงินของกรมสรรพากรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องชำระภาษีธุรกิจด้วยการโอนผ่านธนาคารหรือเช็คเท่านั้น ดังนั้น การเพิ่มบริการรับชำระเงินแบบดิจิทัล ด้วยระบบการรับชำระภาษีธุรกิจ ผ่านบัตรเครดิตเพื่อธุรกิจของวีซ่า ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถชำระภาษีได้รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัดต้นทุนเรื่องค่าธรรมเนียมการจัดการเช็ค มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยถึง 55 วัน และยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น เครดิตเงินคืน และคะแนนสะสม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทางการเงินของภาคธุรกิจ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของธนาคารในการผลักดันกลยุทธ์ เพื่อขยายธุรกิจและเพิ่มความแข็งแกร่งในระบบนิเวศของการชำระเงินแบบดิจิทัลในประเทศไทย”

ปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยสามารถชำระภาษีได้โดยการโอนผ่านธนาคารหรือเช็คเท่านั้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการชำระด้วยเช็คมีข้อดีในเรื่องของระยะเวลาปลอดหนี้ที่ให้กับซัพพลายเออร์ นั่นคือความยืดหยุ่นของกระแสเงินสด อย่างไรก็ดี บัตรเครดิตวีซ่าเพื่อธุรกิจสามารถเพิ่มกระแสเงินสดให้กับธุรกิจต่างๆ ได้จากการที่บริษัทเหล่านั้นจะใช้ “ช่วงเวลาปลอดดอกเบี้ย” ที่มีให้มากถึง 55 วัน นอกจากนี้ ธุรกิจทั้งหลายยังสามารถประหยัดต้นทุนในการดำเนินงานได้จากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการจัดการเช็ค  ที่สำคัญเจ้าของธุรกิจเองยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อทำการชำระด้วยบัตรเครดิตวีซ่าเพื่อธุรกิจ เช่น การได้รับเครดิตเงินคืน และคะแนนสะสม เป็นต้น

“วีซ่า เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจขนาดเล็กที่เปลี่ยนจากการทำให้กิจการอยู่รอดได้มาเป็นการมองหาวิธีการที่จะทำให้ ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น  ผู้ประกอบการฯ เห็นประโยชน์จากการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงานให้ดียิ่งขึ้น แต่ยังสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ และสร้างโอกาสในการขยายกิจการไปต่างประเทศได้  โดยผลสำรวจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจฉบับล่าสุดของวีซ่า ยังชี้ให้เห็นว่ามากถึงร้อยละ 91 ของผู้ประกอบการ SMB เริ่มสนใจที่จะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่าง ChatGPT มาปรับใช้ในอีก 12 เดือนข้างหน้าเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย2” นายปุณณมาศกล่าวเสริม

สำหรับประเทศไทย ธนาคารที่ออกบัตรเครดิตเพื่อธุรกิจของวีซ่า คือ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต บริษัทบัตรกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารกรุงเทพ และอิออน  โดยบัตรเครดิตเพื่อธุรกิจของวีซ่าเปิดรับชำระภาษีทั้งผ่านช่องทางออนไลน์ และที่สำนักงานสรรพากร

 

1 การศึกษาวิจัยระดับโลกฉบับที่สามเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของวีซ่า ภาคธุรกิจโดยรวมในปี 2566 จัดทำโดย Wakefield Research ระหว่างเดือนมีนาคม/เมษายน พ.ศ. 2566 ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กจำนวน 2,250 แห่งที่มีพนักงาน 100 คน หรือน้อยกว่าในประเทศออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา เยอรมนี ฮ่องกง ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000 คน ในสหรัฐอเมริกา และ 500 คน ในออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา เยอรมนี ฮ่องกง ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

2 การศึกษาวิจัยระดับโลกฉบับที่สามเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของวีซ่า ภาคธุรกิจโดยรวมในปี 2566 จัดทำโดย Wakefield Research ระหว่างเดือนมีนาคม/เมษายน พ.ศ. 2566 ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กจำนวน 2,250 แห่งที่มีพนักงาน 100 คน หรือน้อยกว่าในประเทศออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา เยอรมนี ฮ่องกง ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000 คน ในสหรัฐอเมริกา และ 500 คน ในออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา เยอรมนี ฮ่องกง ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

เกี่ยวกับวีซ่า

Visa Inc. (NYSE:V) เป็นผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก วีซ่าให้บริการในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างผู้บริโภค ร้านค้า สถาบันการเงิน และหน่วยงานภาครัฐมากกว่า 216 พันล้านรายการต่อปี ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ภารกิจของเราคือการเชื่อมโยงโลกผ่านเครือข่ายนวัตกรรมการชำระเงินที่เชื่อถือได้ สะดวก และปลอดภัยสูงสุด เพื่อให้ผู้บริโภค ร้านค้า และเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เราเชื่อว่าเศรษฐกิจที่รวมทุกคนในทุกที่เข้าด้วยกัน จะช่วยยกระดับทุกคนในทุกที่ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ Visa.com