จ่ายเงินผ่านบัตรดันจีดีพีไทยเพิ่มขึ้น 1.13 แสนล้านบาท ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา นับเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในทวีปเอเชีย

05/02/2016

งานวิจัยวีซ่าจากทั้งหมด 70 ประเทศ ในระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2558 ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจากระบบชำระเงินที่ใช้เงินสดเป็นหลักไปสู่การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีส่วนช่วยเพิ่มจีดีพีเกือบสามแสนล้านดอลล่าสหรัฐ

ผลสำรวจของวีซ่า จัดทำโดย บริษัท มูดี้ส์ อนาลิติคส์ (Moody’s Analytics) แสดงให้เห็นว่า จำนวนธุรกรรมและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงการชำระผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด เพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยถึง 3.18 พันล้านดอลล่าสหรัฐ (113 พันล้านบาทโดยประมาณ) หรือสูงขึ้น 0.19 เปอร์เซ็นต์ในอัตราการเติบโตของจีดีพีทั้งหมด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึงพ.ศ. 2558 ซึ่งถือได้ว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่เพิ่มสูงที่สุดในทวีปเอเชีย

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอัตราการเติบโตของจีดีพีที่เป็นผลมาจากการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยโตมากกว่าถึงสามเท่าตัว ในทวีปเอเชีย “อีเพย์เมนต์” ดันจีดีพีของภูมิภาคโดยรวมเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.06 เปอร์เซ็นต์ สำหรับประเทศที่มีการเติบโตรองจากประเทศไทย คือเวียดนามที่ 0.14 เปอร์เซ็นต์ และตามมาด้วยสิงคโปร์ที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในประเทศไทยเองนั้นผลพลอยได้จากการเติบโตของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นสร้างงานกว่า 75,730 อัตรา ต่อปี ในช่วงเวลาห้าปีเดียวกัน

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “งานวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ต่างๆของระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ทุกประเทศทั่วโลกด้วย โดยผลสำรวจยังระบุให้เห็นว่านโยบายรัฐบาลที่เหมาะสมจะช่วยพัฒนาระบบชำระเงินที่เปิดกว้างและมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งยังส่งผลถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานอีกด้วย”

“ในประเทศไทย วีซ่าได้ร่วมมือกับสถาบันทางการเงิน ร้านค้า บริษัทด้านเทคโนโลยี และหน่วยงานภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงและจับต้องได้ รวมไปถึงการเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ การยอมรับในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยขยายร้านค้าทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงการนำประโยชน์ในการชำระเงินผ่านบัตรมาให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ” นายสุริพงษ์ กล่าวเสริม

ผลสำรวจโดย มูดี้ส์ อนาลิติคส์ ได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ในด้านการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ จาก 70 ประเทศทั่วโลก ระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2558 เผยให้เห็นว่าการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด มีส่วนเพิ่มมูลค่าให้จีดีพีถึง 296 พันล้านดอลล่าสหรัฐ และยังส่งผลต่อการบริโภคสินค้าและบริการในระดับครัวเรือนโดยเฉลี่ย 0.18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ยังประเมินจำนวนเฉลี่ยของงานที่เกิดจากระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่ 2.6 ล้านงานต่อปีภายในห้าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นธุรกรรมการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลครอบคลุม 70 ประเทศคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 95% ของจีดีพีของโลก

นายมาร์ค แซนดี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ อนาลิติกส์ กล่าวว่า “การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มีส่วนเป็นอย่างมากในการสนับสนุนการบริโภคภายใน การเพิ่มศักยภาพการผลิตอุตสหกรรม การเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ และการสร้างงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีการใช้บัตรสูง จะมีอัตราการเจริญเติบในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจที่สูงตามมา”

ผลสำรวจดังกล่าวยังถูกนำไปใช้ในรายงาน “ผลกระทบของการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อการเจริญเติบของเศรษฐกิจ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสู่การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์จะเอื้อประโยชน์ให้กับภาครัฐ รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งและเปิดโอกาสให้กับอีกหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดจำนวนของเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งเป็นลักษณะการทำธุรกิจที่ใช้เงินสดเป็นหลัก และไม่ได้รวมอยู่ในสถิติทางราชการ โดยผลที่ได้จากการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนนี้คือ รัฐจะมีรายได้ที่มาจากการจ่ายภาษีมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมด้วยเงินสด สร้างความมั่นใจทางการเงินให้กับร้านค้า และทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

สาระสำคัญจากผลวิจัย:

• โอกาสในการเจริญเติบโต:

การเข้าถึงบัตร: การบริโภคที่แท้จริง มีการเติบโตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3 เปอร์เซนต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 – 2558 โดยจำนวน 0.01 เปอร์เซนต์นั้นเป็นผลมาจากการใช้บัตรที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อันถือได้ว่าการใช้บัตร กระตุ้นการบริโภคที่ 0.4 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเจริญเติบโต ดังนั้นยอดการเติบโตของการบริโภคโดยเฉลี่ยในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จึงมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น จากการเพิ่มบัตรในตลาด
การใช้บัตร: ประเทศที่พบว่ามีการใช้จ่ายผ่านบัตรสูง จะมีค่าจีดีพีที่สูงตาม อาทิ ฮังการี (0.25 เปอร์เซ็นต์) สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (0.23 เปอร์เซ็นต์) ชิลี (0.23 เปอร์เซ็นต์) ไอร์แลนด์ (0.2 เปอร์เซ็นต์) โปแลนด์ (0.19 เปอร์เซ็นต์) และออสเตรเลีย (0.19 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ มีอัตราการใช้งานผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม

• ประโยชน์ต่อการจ้างงาน:

อัตราการใช้จ่ายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น มีส่วนช่วยเพิ่มงานโดยเฉลี่ยกว่า 2.6 ล้านอัตราต่อปี ใน 70 ประเทศวิจัยทั่วโลกในระหว่างปีพ.ศ. 2554 – 2558 โดยประเทศที่มีอัตราว่าจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นคือจีนและอินเดีย โดยได้มีการว่าจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 427,000 อัตราในจีน และมากถึง 336,000 อัตรา ในอินเดีย ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นเพราะศักยภาพการผลิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการมีจำนวนการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น

• ตลาดเกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว:

กลุ่มตลาดที่เกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่างเห็นถึงปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้น หลังมีจำนวนการใช้บัตรสูง ซึ่งในตลาดเกิดใหม่นั้น การใช้บัตรที่เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยเพิ่มการบริโภคถึง 0.2 เปอร์เซ็นต์ และสูงถึง 0.14 เปอร์เซ็นต์ในประเทศที่พัฒนาแล้วในระหว่างปีพ.ศ. 2554 – 2558 ซึ่งส่งผลถึงค่าจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.11 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดเกิดใหม่ และ 0.08 เปอร์เซ็นต์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากว่าไม่มองถึงอัตราการเข้าถึงการใช้บัตรแล้ว เมื่อประเทศใดมีการใช้บัตรที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลต่อจำนวนการบริโภคที่สูงขึ้นตามไปด้วย

• โอกาสการเติบโตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต:

จากผลการสำรวจของมูดี้ส์ ใน 70 ประเทศ พบว่า ทุกๆ การเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ในการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับด้านการบริโภคสินค้าและบริการ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละราว 1.04 แสนล้านดอลล่าสหรัฐ ซึ่งหากยังสามารถคงปัจจัยทั้งหมดนี้ได้ต่อไปในอนาคต สัดส่วนของการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์จะมีส่วนช่วยดันให้เพิ่มจีดีพีสูงถึง 0.04 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี

ผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าลำพังการขยายช่องทางการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยเพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศได้ทีเดียว ซึ่งหากต้องการผลลัพท์ที่ดีที่สุด จะต้องมีโครงสร้างการเงินที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี พร้อมระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ซึ่งผลงานวิจัยแนะนำถึงการพัฒนาว่าควรต้องเริ่มในระดับมหภาค นโยบายภาครัฐมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะข้อบังคับที่เปิดกว้างมีประสิทธิภาพ สร้างโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง อันจะนำไปสู่การกระตุ้นการบริโภคภายในที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

สามารถอ่านงานวิจัยและติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.visa.com/moodysanalytics



เกี่ยวกับวีซ่า
วีซ่าคือบริษัทผู้ให้บริการด้านเครือข่ายการชำระเงินระดับโลก แก่ลูกค้าบุคคล ธุรกิจ และสถาบันการเงิน ตลอดจนองค์กรรัฐ ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลกด้วยเทคโนโลยีด้านเงินตราดิจิตอลที่รวดเร็ว ปลอดภัย และวางใจได้  โดยมี VisaNet หนึ่งในระบบเครือข่ายการทำงานด้านเงินตราดิจิตอลที่ทันสมัยมากที่สุดระบบหนึ่งของโลกเป็นรากฐาน ซึ่งสามารถประมวลและควบคุมการทำธุรกรรมได้กว่า65,000 รายการในหนึ่งวินาที พร้อมด้วยระบบป้องกันการปลอมแปลงสำหรับลูกค้าบุคคล และการรับประกันการชำระเงินสำหรับร้านค้า วีซ่าไม่ใช่ธนาคารและมิได้มีบริการการออกบัตร เพิ่มวงเงินเครดิต หรือกำหนดอัตราค่าบริการแก่ผู้ถือบัตร หากแต่ให้บริการนวัตกรรมซึ่งส่งเสริมให้สถาบันการเงินสามารถมอบทางเลือกที่มีความหลากหลายให้แก่ลูกค้าได้ เช่น บริการชำระเงินจากยอดเงินในบัตรเดบิตหรือการใช้จ่ายด้วยวงเงินล่วงหน้าผ่านผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตต่าง ๆ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวีซ่า อ่านได้ที่: www.visa.co.th  www.visaapnewsroom.com และ @VisaNews บนทวิตเตอร์